Friday, May 18, 2007

วันที่ถอดหมวก



เช้าวันหนึ่ง ฉันตื่นขึ้นมาด้วยความหม่นมัวในใจ
เกลือกกลิ้งอยู่บนที่นอนด้วยความคิดวนเวียนอยู่ในหัว
ความรู้สึกเบื่อหน่ายซึมเซา หมองเศร้ากับชีวิต
และก็เหมือนทุกๆ เช้าของวันหยุด
ตื่นแล้วก็ต้องหยิบหนังสือที่วางบนหัวเตียง
อ่าน อ่าน และ อ่าน ขีดเส้นใต้ข้อความที่ประทับใจ
หลายข้อความผ่านตา
จิตใจที่หดหู่ ซึมเซา กลับรู้สึกเริ่ม...ผ่อนเบา...อ่อนคลาย
จนถึงบทสุดท้ายเป็นการสัมภาษณ์ผู้เขียน...
.. " เราพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่เรารัก..คนที่เรามีกรรมผูกพันกันมา...
" ทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้และทำให้คุณจมดิ่งลงไปในความมืด

มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างก็ได้"
" บ่อยครั้ง สิ่งที่ดูเหมือนเลวร้ายในชีวิตคุณ แท้จริงกลับเป็นบทเรียนที่ฟ้าดินมอบให้ "
" ทุกอย่างเป็นครูของเราได้หมด ทุกอย่างที่มากระทบเรานี่ ถ้าเราทำจิตให้ว่างเสีย

มันก็ผ่านไป เหมือนที่ท่านเซอเกียล รินโปเช เขียนว่า

จิตเดิมของเราเหมือนเวิ้งฟ้า เมฆผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ฟ้าก็ยังนิ่งใสเหมือนเดิม "
ข้อความผ่านตา จิตใจรู้สึกโล่ง โปร่งสบายขึ้นมาอย่างน่าประหลาด

ทบทวนถึงสิ่งก่อให้เกิดทุกข์ ก็เริ่มเห็นถึงความไม่เที่ยง ความเกิด – ดับ

ที่เกิดขึ้นตลอด เดี๋ยวสุข – เดี๋ยวทุกข์ ,เดี๋ยวหัวเราะ – เดี๋ยวร้องไห้

ทุกอย่างไม่มีสิ่งจีรัง
....
ฉันคิดถึงเธอ...
แม้รู้ว่าทุกสิ่งมีเปลี่ยนแปลง
ฉันขอเพียงเวลาสั้นๆ ของเรา เป็นเวลาที่เรามีความสุขด้วยกัน .. เท่านั้นพอ
....

หนังสือ... " วันที่ถอดหมวก "
โดย..เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ สามัญชน

ภาพลักษณ์บุรุษสวมหมวก คือส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของอาจารย์เสกสรรค์

มาตลอดร่วม 30 ปี โดยท่านถือว่าการสวมหมวกถือเป็นการยืนยันอิสรภาพแห่งตัวตนของท่านทีเดียว

แต่แล้ววันหนึ่ง มีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลง

การสวมหมวกของท่านผู้เขียนถูกสั่นคลอน ต้องทบทวนอัตตาแห่งตน

คนที่ยึดถือศักดิ์ศรียิ่งชีวิต กลับต้องมายอมให้กับอีกผู้หนึ่ง

ซึ่งมิใช่ผู้ยิ่งใหญ่มาจากไหน แต่กลับเป็นหมาจรจัดตัวหนึ่ง

เพียงเพื่อฝึกฝนความเมตตา ความนอบน้อมถ่อมตน ก่อให้เกิดความสมานฉันท์

ระหว่างคนกับหมา อีกทั้งเป็นการเยียวยาบาดแผลเก่าในใจของสิ่งมีชีวิต 2 สปีชี่ได้สำเร็จอีกด้วย

"วันที่ถอดหมวก" ได้ถูกรวบรวมเรื่องราวประสบการณ์ล้ำค่า

ของท่านผู้เขียนไว้มากมาย และที่สำคัญ บทสัมภาษณ์ท้ายเล่ม

เชื่อว่าสามารถปลุก " พุทธะ" ของท่านผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย

และสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ ทั้งที่มีข้อความกล่าวเกริ่นหน้าปกหลังว่า

" งานชุดนี้ แทบไม่เอ่ยถึงปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

เหมือนเล่มอื่นๆ" แต่พอได้อ่านดูแล้ว ก็พบและเชื่อมั่นว่า

อย่างไรเสีย ท่านผู้เขียนก็คงไม่สามารถผ่านเลยสิ่งที่ได้หลอมละลายอยู่ในทุกลมหายใจ

ของท่านไปได้ เพียงแต่อาจไม่หน่วงหนักเหมือนเล่มอื่นๆ เท่านั้น