Monday, July 03, 2006
ดอกไม้ไม่จำนรรจ์
“ดอกไม้ไม่จำนรรจ์ – A Flower Does Not Talk”
เซนไค ชิบายามะ เขียน
พจนา จันทรสันติ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
********************************************************
บทกวีขับนำ
ดอกไม้เบ่งบานขึ้นอย่างเงียบงัน
และจะหลุดร่วงไปโดยไร้สำเนียง
มาบัดนี้ ณ กาลนี้ และ ณ สถานที่นี้
ดอกไม้ทั้งหมด โลกทั้งหมด ล้วนเบิกบานขึ้น
นี่คือคำจำนรรจาแห่งดอกไม้
คือสัจจะแห่งการเบ่งบาน
แสงอันเรืองรองแห่งชีวิตนิรันดร์
ได้ฉายฉานลง ณ ที่นี้แล้ว
เซนไค ชิบายามะ
หากท่านขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นิยมชมชอบนิยายยุทธจักรกำลังภายในหรือนิยายซามูไรชนิดแฟนพันธุ์แท้อย่างลึกซึ้งแล้วละก็ ท่านจะต้องทราบถึงวิถีแห่งเซนที่สอดแทรกอยู่ในนิยายเหล่านั้น ดังที่คุณเสถียร จันทิมาธร เคยบอกเล่าไว้ว่า เซนแทรกอยู่ในนิยายเรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น” แฟนพันธุ์ทางลี้คิมฮวงอย่างฉัน ก็หูผึ่งด้วยความสงสัยใคร่รู้ เอ..ที่บอกว่า..เซนน่ะ มันแทรกอยู่ตรงไหนหนอ ฉันรู้จักดีก็แค่เซ็นชื่อกะเซ็นเช็ค
สงสัยได้เพียงไม่นาน และแล้ววันหนึ่ง หนังสือ “ดอกไม้ไม่จำนรรจ์” ก็มาสถิตอยู่ในมือฉัน ฉันเริ่มต้นอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อสนองความอยากรู้จบไป 1 รอบ ฉันเข้าใจเซนเพิ่มขึ้นแค่หางอึ่ง ซึ่งไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาของหนังสือเลย แต่ฉันกลับพบว่า..ฉันแอบซ่อนความพึงพอใจหนังสือเล่มนี้อย่างเงียบๆ การอ่านรอบที่ 2 ก็เริ่มขึ้น จนรอบที่ 3 ตามมา แต่ละรอบที่อ่าน ฉันสัมผัสถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้เพิ่มมากขึ้นๆ เขยิบเข้ามาสิ..ฉันจะเล่าให้ฟัง
เซนเริ่มเผยแพร่จากจีน แต่มารุ่งเรืองแผ่ขยายในญี่ปุ่น ผู้เขียนเป็นอาจารย์เซนคนสำคัญคนหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ให้มนุษย์สามารถเผชิญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยการเข้าถึงบุคลิกภาพภายในอันล้ำลึก เขาเชื่อมั่นว่า “ เซนคือความหวังของโลกในอนาคต ” และเขาเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่ว่า “ ที่ก้นบึ้งของความแตกต่างนั้น มีต้นกำเนิดของน้ำพุ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสุขของมนุษย์ชาติทั้งปวงดำรงอยู่ ”
หนังสือเล่มนี้ ได้บอกเล่าถึงความเป็น “ เซน ” ว่ามีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ 1) เน้นการถ่ายทอดนอกคัมภีร์ 2) ไม่ยึดติดกับตัวอักษร 3) จี้ตรงเข้าสู่จิต 4) เข้าถึงพุทธภาวะโดยการมองธรรมชาติแห่งตน ทั้ง 4 อย่างนี้ มีมรรควิธีแห่งเซนนำไปสู่สัจธรรมแห่งธรรมชาติที่แท้ การเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวด้วยวิธีธรรมชาติและวิถีทางประหลาดๆ ต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของอาจารย์ผู้ถ่ายทอด ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกฝนต้องยึดถือหลัก 3 ข้อ คือ 1) ต้องมีศรัทธามั่นและตั้งใจมั่นคงที่จะรับการฝึกฝน 2) จะต้องมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะยอมทนต่อวินัยอันเคร่งครัด 3) จะต้องมีมหาปริศนา – ความสงสัยทางวิญญาณ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาที่เป็นเครื่องนำไปสู่สัจจะ เซนแบ่งออกเป็นโซโตเซนและรินไซเซน ทั้งวิธีการและการฝึกหัดอาจจะแตกต่างกันออกไป วิธีการฝึกฝนจึงต้องฝึกเพื่อให้ทนรับความยากลำบาก และไม่หลงใหลไปกับสิ่งที่ง่ายๆ ที่ถือว่าเป็นทางลัด จนบางครั้งดูเหมือนจะก้าวร้าว โหดร้าย แต่ก็เป็นการปฏิวัติต่อระบบความคิดดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจเซน คือ สิ่งที่เรียกว่า “เซน” นั้น ไม่อาจถือว่าเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา เซนไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับพุทธศาสนานิกายเซนเท่านั้น หากแต่เป็นสัจจะอันสากล ซึ่งจะนำปรีชาญาณที่แท้และนำสันติสุขมาสู่ชีวิตของมหาชนในโลก
นอกจากนั้น หนังสือได้แสดงถึงบทเพลงของซาเซนและภาพวาดของเซน ซึ่งเป็นผลงานของท่านฮาคุอิน – อาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียง อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ คุรุจอมปราชญ์ในรอบ 500 ปี ” และ “ มหาสังฆราชาผู้ฟื้นฟูเซน ” ดังที่บางท่านอาจเคยเห็นผลงานของท่านฮาคุอินในหนังสือคำสอนของท่านพุทธทาส ภาพวาด บทกวี และคำบรรยาย ล้วนแสดงออกถึงจิตวิญญาณแห่งเซนอันล้ำลึก ดังเช่น
...เหตุใด จึงปล่อยให้ชีวิตกลัดกลุ้ม
จงมองดูต้นหลิวริมฝั่งน้ำ
มันดำรงอยู่ที่นั่น เฝ้ามองสายน้ำหลั่งไหล...
...จั๊กจั่นกรีดร้องก้องตลอดวัน
แต่มีเพียงหิ่งห้อยผู้เงียบงัน
ซึ่งเผาตัวเองอยู่ด้วยความรัก...
...พยับเมฆและดวงจันทร์
ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
หุบห้วยและขุนเขา
ย่อมผิดแผกแตกต่าง
นี่ล้วนเป็นหนึ่งเดียว
หรือแบ่งแยกเป็นสอง
มหัศจรรย์ยิ่ง น่าทึ่งหนักหนา...
เซนบอกเราอยู่เสมอให้ขจัดโลกแห่งการแบ่งแยกออกไป และเปิดตาขึ้นรับรู้ต่อโลกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวอันสูงสุด ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ไปติดอยู่กับความหนึ่งเดียวจนสูญสิ้นอิสรภาพแห่งตนไป เซนมีบางสิ่งบางอย่างที่สงบล้ำและปราศจากการปรุงแต่งทั้งมวล ในขณะเดียวกับที่ห่อหุ้มปรีชาญาณอันลึกซึ้งไว้ภายใน และถ้าหากเราพยายามที่จะยึดมันไว้เพื่อนำมาดูว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่ มันก็จะสูญหายไปจนไร้ร่องรอย เหนือสิ่งอื่นใด เซนปฏิเสธการใช้สมองขบคิดใคร่ครวญ เพราะกระทำดังนั้น เท่ากับตกเป็นทาสของจิตใจแบบแบ่งแยก
....คนสามัญวางใจในตน คนฉลาดวางใจในจุดมุ่งหมาย....
คัมภีร์ที่ไร้อักษร
ช่างบริสุทธิ์และสดชื่น
ดอกไม้ที่ประดับด้วยหยาดน้ำค้าง
ช่างไพเราะเสนาะใส
บทเพลงของหมู่วิหค
เมฆขาวสงบ ธารน้ำส่องประกายสีคราม
ใครเลยที่อาจขีดเขียน
ด้วยถ้อยคำที่แท้ อันปราศจากตัวอักษร
ขุนเขาสูงตระหง่าน แมกไม้เขียวขจี
หุบเหวน้ำลึก ธารน้ำสะอาดใส
สายลมบางเบา ดวงจันทร์สงบล้ำ
อย่างสงบงัน ข้าพเจ้าอ่าน
ถ้อยคำที่แท้ ซึ่งไร้อักษร....
อ่านจบแล้ว บอกได้ว่า ซาบซึ้งพึงพอใจ แต่ถ้าจะให้ถ่ายทอดอธิบาย ก็จะไร้เสียงตอบจากฉัน เพราะนั่น...หมายถึงท่านต้องสัมผัสคุณค่าของเซนด้วยตัวท่านเอง....ดอกไม้..ไม่จำนรรจ์....
วิหารที่ว่างเปล่า
วิหารที่ว่างเปล่า
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ สามัญชน
เป็นหนังสือที่ฉันได้อ่านเล่มแรกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ด้วยคุณสมบัติการเป็นคนเดือนตุลาฯ เพื่อประชาที่ทุกข์ยาก ทำให้ฉันวาดภาพว่า ทุกเล่ม หรือทุกบทความต้องอัดแน่นไปด้วยไอกรุ่นของเรื่องราวการเมืองที่น่าเบื่อหน่าย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความงดงามทางภาษา ความลึกซึ้งในมุมมองของความคิด ทำให้ฉันต้องกว้านซื้อหนังสือที่เป็นผลงานของเขาอีกนับสิบเล่มด้วยความชื่นชมในหัวใจ
“วิหารที่ว่างเปล่า “ เป็นบันทึกการเดินทางและการอ่านหนังสือของเสกสรรค์ ที่ได้เกิดขึ้นในราวปี 2541 – 2542 ขณะวัยใกล้ 50 ที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เขาขึ้นต้นด้วยคำอุทิศ แด่..”ใบไม้” ที่หายไป ก็เกิดคำถามในใจว่า หมายถึงใครกันแน่ หญิงสาวของเขา หรือ ปฏิวัติชน ? ก่อนเปิดฉากด้วยการบอกเล่าเรื่องราวแรก คือชีวิตกลางทะเลตรัง สอดแทรกเอ่ยอ้างถึงหนังสือ Into Thin Air ของ จอน คราเคาเออร์ – ยอดนักไต่เขาที่ถูกกล่าวขานถึงการไต่ยอดเขาเอฟเวอเรสต์ ซึ่งเสกสรรค์ได้รำพึงไว้ว่า
...ในองค์ประกอบของความเป็นคน มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ “ไร้เหตุผล” สิ้นดี .... แต่ละฝ่ายมาแสวงหา “ คุณค่า” ของชีวิตตามจินตนาการที่ต่างกัน และบนเส้นทางไปสู่ยอดเขาสูงที่สุดของโลก หลายครั้งที่พวกเขาต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดของตนเองไปพร้อมๆ กัน...ใช่หรือไม่ว่า นี่คือตลกร้ายของมนุษยชาติ...
ทุกขณะของชีวิต จะมีสายธารแห่งความคิดหลั่งไหลให้ผู้อ่านได้ซึมซับความละเมียดละไมทางอารมณ์อยู่เสมอ ... เฉกเช่น...
...ชีวิตเป็นเรื่องแปลก ในขณะที่มันต้องการความสอดคล้องลงตัวสารพัดกว่าจะผลิตความสุขขึ้นมาได้สักหนึ่งวูบ แต่ห้วงขณะแบบนั้นกลับไม่ค่อยเกิดขึ้นในความเป็นจริง บางที สิ่งดีๆ ที่เรารอคอยก็มักจะมาช้ากว่าห้วงยามอันเหมาะสม และกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เราคิดไม่ถึง....
...สิ่งต่างๆ ที่เราต้องการในชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้ว แทบไม่มีอันใดเลยที่สำคัญในตัวของมันเอง มันขึ้นอยู่กับว่า เราได้รับสิ่งเหล่านั้นเมื่อใดและในเงื่อนไขใด อาหารเลิศรสเป็นความล้นเกินสำหรับผู้ที่อิ่มแล้ว ขณะที่เทียนเล่มเดียวอาจจะกลายเป็นของล้ำค่าที่สุดสำหรับผู้คนที่ติดวนอยู่ในอุโมงค์มืดดำ...
...ใช่หรือไม่ว่าโลกของเราแต่ละคนก็กว้างแค่จำนวนคนที่เรารู้จักและคบหาเป็นมิตรสหาย เมื่อมีบางส่วนจากพรากไปอยู่ภพอื่น หรือมีบางคนทอดทิ้งเราไป...โลกใบนี้ก็หดแคบลง..
นอกจากเรื่องราวชีวิตกลางทะเล เขายังเล่าถึงประสบการณ์เดินป่า ทั้งที่ผ่านประสบการณ์อยู่ในป่ามาหลายปี ก็ยัง ”หลงป่า” จนได้ และไม่ลืมที่จะสอดแทรกหนังสือประทับใจที่ชื่อ COURAGE : The Joy of Living Dangerously ของ Osho ซึ่งเสกสรรค์สรุป ไว้ว่า
...การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องการความกล้าหาญ ที่สำคัญ คือ กล้าที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนและสภาวะที่อยู่เหนือความคาดหมายในแต่ละห้วงยาม…
ประสบการณ์อีกมากมาย เช่น การใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออก ฯลฯ หนังสือที่ประทับใจหยิบยกมาให้เรียนรู้อีกหลายเล่ม ล้วนถ่ายทอดองค์ความรู้แนวคิดทางอารยธรรม , มานุษยวิทยา , รัฐศาสตร์ , สังคมศาสตร์ , ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวใน “วิหารที่ว่างเปล่า”
...หากชีวิตคือการเดินทางไปสู่ชั่วโมงที่เราไม่รู้จัก ในแต่ละห้วงยามย่อมต้องมีความหมายเฉพาะของมัน สิ่งใดที่มีคุณค่าหรือไร้ค่าย่อมขึ้นอยู่กับว่าปรากฏตัวขึ้นเมื่อใด...
...ผมพบว่า..วิหารในใจ..ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สถิตของอุดมคติทางการเมืองและสังคม พลันกลับกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเหงาเงียบ และเมื่อในใจมีโบสถ์โล่งร้างหลังหนึ่งตั้งอยู่ มิช้ามินานมันย่อมรกรุงรัง กลายเป็นที่อยู่อาศัยของนกหนูงูแมง....ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป คำถามที่เกิดขึ้นกับผมยิ่งไม่ได้มีเพียงจะอัญเชิญสิ่งใดมาประดิษฐานแทนที่สิ่งเหล่านั้น.. หากแต่ยังไต่สวนลึกไกลไปถึงขั้น .. จำเป็นหรือไม่ที่ผมจะต้องค้นหาความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต เพราะบางทีชีวิตอาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้...ดูแล้วเหมือนผมกำลังบูชา ความว่างเปล่า” ของชีวิต ... แท้จริง คือความว่างเปล่าอันลึกล้ำซึ่งไม่อาจมีรูปเคารพใดมาใช้แทน....อย่างน้อยผมยังเชื่อว่า”สิ่งศักดิ์สิทธิ์”มีอยู่ ...” สิ่งศักดิ์สิทธิ์”นี้ หมายถึง การให้คุณค่าอะไรบางอย่างกับชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนตอบแทนในเชิงวัตถุ..
… สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ทุกหนแห่ง ขอเพียงในใจเรามีโบสถ์วิหาร ก็สามารถอัญเชิญต้นไม้ ก้อนเมฆ หรือแม้แต่แววตาของมารดามาประดิษฐาน... สิ่งเหล่านี้ คือประติมากรรมของเอกภพที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ขององค์รวม เป็นสิ่งที่เราผ่านพบอยู่เกือบทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่มักมองข้าม หรือไม่เคยคิดจะอ่านหาความหมาย ...ใช่หรือไม่ว่า ขณะสถานที่อันพึงเคารพของทุกศาสนาเต็มล้นไปด้วยเครื่องบูชาสักการะและถ้อยคำอธิษฐาน... วิหารในใจเรากลับว่างเปล่ามาเนิ่นนาน? ...ใช่..ผมยอมรับว่า วิหารในใจยังคงว่างเปล่า แต่ก็เชื่อว่า ผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นคนเดียว...
วิหารในใจของคุณล่ะ มีสิ่งใดไว้เคารพบูชา
Subscribe to:
Posts (Atom)