Monday, July 03, 2006

วิหารที่ว่างเปล่า



วิหารที่ว่างเปล่า
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ สามัญชน


เป็นหนังสือที่ฉันได้อ่านเล่มแรกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ด้วยคุณสมบัติการเป็นคนเดือนตุลาฯ เพื่อประชาที่ทุกข์ยาก ทำให้ฉันวาดภาพว่า ทุกเล่ม หรือทุกบทความต้องอัดแน่นไปด้วยไอกรุ่นของเรื่องราวการเมืองที่น่าเบื่อหน่าย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความงดงามทางภาษา ความลึกซึ้งในมุมมองของความคิด ทำให้ฉันต้องกว้านซื้อหนังสือที่เป็นผลงานของเขาอีกนับสิบเล่มด้วยความชื่นชมในหัวใจ

“วิหารที่ว่างเปล่า “ เป็นบันทึกการเดินทางและการอ่านหนังสือของเสกสรรค์ ที่ได้เกิดขึ้นในราวปี 2541 – 2542 ขณะวัยใกล้ 50 ที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เขาขึ้นต้นด้วยคำอุทิศ แด่..”ใบไม้” ที่หายไป ก็เกิดคำถามในใจว่า หมายถึงใครกันแน่ หญิงสาวของเขา หรือ ปฏิวัติชน ? ก่อนเปิดฉากด้วยการบอกเล่าเรื่องราวแรก คือชีวิตกลางทะเลตรัง สอดแทรกเอ่ยอ้างถึงหนังสือ Into Thin Air ของ จอน คราเคาเออร์ – ยอดนักไต่เขาที่ถูกกล่าวขานถึงการไต่ยอดเขาเอฟเวอเรสต์ ซึ่งเสกสรรค์ได้รำพึงไว้ว่า

...ในองค์ประกอบของความเป็นคน มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ “ไร้เหตุผล” สิ้นดี .... แต่ละฝ่ายมาแสวงหา “ คุณค่า” ของชีวิตตามจินตนาการที่ต่างกัน และบนเส้นทางไปสู่ยอดเขาสูงที่สุดของโลก หลายครั้งที่พวกเขาต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดของตนเองไปพร้อมๆ กัน...ใช่หรือไม่ว่า นี่คือตลกร้ายของมนุษยชาติ...

ทุกขณะของชีวิต จะมีสายธารแห่งความคิดหลั่งไหลให้ผู้อ่านได้ซึมซับความละเมียดละไมทางอารมณ์อยู่เสมอ ... เฉกเช่น...
...ชีวิตเป็นเรื่องแปลก ในขณะที่มันต้องการความสอดคล้องลงตัวสารพัดกว่าจะผลิตความสุขขึ้นมาได้สักหนึ่งวูบ แต่ห้วงขณะแบบนั้นกลับไม่ค่อยเกิดขึ้นในความเป็นจริง บางที สิ่งดีๆ ที่เรารอคอยก็มักจะมาช้ากว่าห้วงยามอันเหมาะสม และกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เราคิดไม่ถึง....

...สิ่งต่างๆ ที่เราต้องการในชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้ว แทบไม่มีอันใดเลยที่สำคัญในตัวของมันเอง มันขึ้นอยู่กับว่า เราได้รับสิ่งเหล่านั้นเมื่อใดและในเงื่อนไขใด อาหารเลิศรสเป็นความล้นเกินสำหรับผู้ที่อิ่มแล้ว ขณะที่เทียนเล่มเดียวอาจจะกลายเป็นของล้ำค่าที่สุดสำหรับผู้คนที่ติดวนอยู่ในอุโมงค์มืดดำ...

...ใช่หรือไม่ว่าโลกของเราแต่ละคนก็กว้างแค่จำนวนคนที่เรารู้จักและคบหาเป็นมิตรสหาย เมื่อมีบางส่วนจากพรากไปอยู่ภพอื่น หรือมีบางคนทอดทิ้งเราไป...โลกใบนี้ก็หดแคบลง..

นอกจากเรื่องราวชีวิตกลางทะเล เขายังเล่าถึงประสบการณ์เดินป่า ทั้งที่ผ่านประสบการณ์อยู่ในป่ามาหลายปี ก็ยัง ”หลงป่า” จนได้ และไม่ลืมที่จะสอดแทรกหนังสือประทับใจที่ชื่อ COURAGE : The Joy of Living Dangerously ของ Osho ซึ่งเสกสรรค์สรุป ไว้ว่า

...การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องการความกล้าหาญ ที่สำคัญ คือ กล้าที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนและสภาวะที่อยู่เหนือความคาดหมายในแต่ละห้วงยาม…

ประสบการณ์อีกมากมาย เช่น การใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออก ฯลฯ หนังสือที่ประทับใจหยิบยกมาให้เรียนรู้อีกหลายเล่ม ล้วนถ่ายทอดองค์ความรู้แนวคิดทางอารยธรรม , มานุษยวิทยา , รัฐศาสตร์ , สังคมศาสตร์ , ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวใน “วิหารที่ว่างเปล่า”

...หากชีวิตคือการเดินทางไปสู่ชั่วโมงที่เราไม่รู้จัก ในแต่ละห้วงยามย่อมต้องมีความหมายเฉพาะของมัน สิ่งใดที่มีคุณค่าหรือไร้ค่าย่อมขึ้นอยู่กับว่าปรากฏตัวขึ้นเมื่อใด...

...ผมพบว่า..วิหารในใจ..ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สถิตของอุดมคติทางการเมืองและสังคม พลันกลับกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเหงาเงียบ และเมื่อในใจมีโบสถ์โล่งร้างหลังหนึ่งตั้งอยู่ มิช้ามินานมันย่อมรกรุงรัง กลายเป็นที่อยู่อาศัยของนกหนูงูแมง....ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป คำถามที่เกิดขึ้นกับผมยิ่งไม่ได้มีเพียงจะอัญเชิญสิ่งใดมาประดิษฐานแทนที่สิ่งเหล่านั้น.. หากแต่ยังไต่สวนลึกไกลไปถึงขั้น .. จำเป็นหรือไม่ที่ผมจะต้องค้นหาความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต เพราะบางทีชีวิตอาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้...ดูแล้วเหมือนผมกำลังบูชา ความว่างเปล่า” ของชีวิต ... แท้จริง คือความว่างเปล่าอันลึกล้ำซึ่งไม่อาจมีรูปเคารพใดมาใช้แทน....อย่างน้อยผมยังเชื่อว่า”สิ่งศักดิ์สิทธิ์”มีอยู่ ...” สิ่งศักดิ์สิทธิ์”นี้ หมายถึง การให้คุณค่าอะไรบางอย่างกับชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนตอบแทนในเชิงวัตถุ..

… สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ทุกหนแห่ง ขอเพียงในใจเรามีโบสถ์วิหาร ก็สามารถอัญเชิญต้นไม้ ก้อนเมฆ หรือแม้แต่แววตาของมารดามาประดิษฐาน... สิ่งเหล่านี้ คือประติมากรรมของเอกภพที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ขององค์รวม เป็นสิ่งที่เราผ่านพบอยู่เกือบทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่มักมองข้าม หรือไม่เคยคิดจะอ่านหาความหมาย ...ใช่หรือไม่ว่า ขณะสถานที่อันพึงเคารพของทุกศาสนาเต็มล้นไปด้วยเครื่องบูชาสักการะและถ้อยคำอธิษฐาน... วิหารในใจเรากลับว่างเปล่ามาเนิ่นนาน? ...ใช่..ผมยอมรับว่า วิหารในใจยังคงว่างเปล่า แต่ก็เชื่อว่า ผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นคนเดียว...

วิหารในใจของคุณล่ะ มีสิ่งใดไว้เคารพบูชา

No comments: