Monday, July 03, 2006

ดอกไม้ไม่จำนรรจ์



“ดอกไม้ไม่จำนรรจ์ – A Flower Does Not Talk”
เซนไค ชิบายามะ เขียน
พจนา จันทรสันติ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
********************************************************
บทกวีขับนำ
ดอกไม้เบ่งบานขึ้นอย่างเงียบงัน
และจะหลุดร่วงไปโดยไร้สำเนียง
มาบัดนี้ ณ กาลนี้ และ ณ สถานที่นี้
ดอกไม้ทั้งหมด โลกทั้งหมด ล้วนเบิกบานขึ้น
นี่คือคำจำนรรจาแห่งดอกไม้
คือสัจจะแห่งการเบ่งบาน
แสงอันเรืองรองแห่งชีวิตนิรันดร์
ได้ฉายฉานลง ณ ที่นี้แล้ว
เซนไค ชิบายามะ

หากท่านขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นิยมชมชอบนิยายยุทธจักรกำลังภายในหรือนิยายซามูไรชนิดแฟนพันธุ์แท้อย่างลึกซึ้งแล้วละก็ ท่านจะต้องทราบถึงวิถีแห่งเซนที่สอดแทรกอยู่ในนิยายเหล่านั้น ดังที่คุณเสถียร จันทิมาธร เคยบอกเล่าไว้ว่า เซนแทรกอยู่ในนิยายเรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น” แฟนพันธุ์ทางลี้คิมฮวงอย่างฉัน ก็หูผึ่งด้วยความสงสัยใคร่รู้ เอ..ที่บอกว่า..เซนน่ะ มันแทรกอยู่ตรงไหนหนอ ฉันรู้จักดีก็แค่เซ็นชื่อกะเซ็นเช็ค
สงสัยได้เพียงไม่นาน และแล้ววันหนึ่ง หนังสือ “ดอกไม้ไม่จำนรรจ์” ก็มาสถิตอยู่ในมือฉัน ฉันเริ่มต้นอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อสนองความอยากรู้จบไป 1 รอบ ฉันเข้าใจเซนเพิ่มขึ้นแค่หางอึ่ง ซึ่งไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาของหนังสือเลย แต่ฉันกลับพบว่า..ฉันแอบซ่อนความพึงพอใจหนังสือเล่มนี้อย่างเงียบๆ การอ่านรอบที่ 2 ก็เริ่มขึ้น จนรอบที่ 3 ตามมา แต่ละรอบที่อ่าน ฉันสัมผัสถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้เพิ่มมากขึ้นๆ เขยิบเข้ามาสิ..ฉันจะเล่าให้ฟัง

เซนเริ่มเผยแพร่จากจีน แต่มารุ่งเรืองแผ่ขยายในญี่ปุ่น ผู้เขียนเป็นอาจารย์เซนคนสำคัญคนหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ให้มนุษย์สามารถเผชิญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยการเข้าถึงบุคลิกภาพภายในอันล้ำลึก เขาเชื่อมั่นว่า “ เซนคือความหวังของโลกในอนาคต ” และเขาเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่ว่า “ ที่ก้นบึ้งของความแตกต่างนั้น มีต้นกำเนิดของน้ำพุ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสุขของมนุษย์ชาติทั้งปวงดำรงอยู่ ”
หนังสือเล่มนี้ ได้บอกเล่าถึงความเป็น “ เซน ” ว่ามีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ 1) เน้นการถ่ายทอดนอกคัมภีร์ 2) ไม่ยึดติดกับตัวอักษร 3) จี้ตรงเข้าสู่จิต 4) เข้าถึงพุทธภาวะโดยการมองธรรมชาติแห่งตน ทั้ง 4 อย่างนี้ มีมรรควิธีแห่งเซนนำไปสู่สัจธรรมแห่งธรรมชาติที่แท้ การเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวด้วยวิธีธรรมชาติและวิถีทางประหลาดๆ ต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของอาจารย์ผู้ถ่ายทอด ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกฝนต้องยึดถือหลัก 3 ข้อ คือ 1) ต้องมีศรัทธามั่นและตั้งใจมั่นคงที่จะรับการฝึกฝน 2) จะต้องมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะยอมทนต่อวินัยอันเคร่งครัด 3) จะต้องมีมหาปริศนา – ความสงสัยทางวิญญาณ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาที่เป็นเครื่องนำไปสู่สัจจะ เซนแบ่งออกเป็นโซโตเซนและรินไซเซน ทั้งวิธีการและการฝึกหัดอาจจะแตกต่างกันออกไป วิธีการฝึกฝนจึงต้องฝึกเพื่อให้ทนรับความยากลำบาก และไม่หลงใหลไปกับสิ่งที่ง่ายๆ ที่ถือว่าเป็นทางลัด จนบางครั้งดูเหมือนจะก้าวร้าว โหดร้าย แต่ก็เป็นการปฏิวัติต่อระบบความคิดดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจเซน คือ สิ่งที่เรียกว่า “เซน” นั้น ไม่อาจถือว่าเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา เซนไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับพุทธศาสนานิกายเซนเท่านั้น หากแต่เป็นสัจจะอันสากล ซึ่งจะนำปรีชาญาณที่แท้และนำสันติสุขมาสู่ชีวิตของมหาชนในโลก
นอกจากนั้น หนังสือได้แสดงถึงบทเพลงของซาเซนและภาพวาดของเซน ซึ่งเป็นผลงานของท่านฮาคุอิน – อาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียง อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ คุรุจอมปราชญ์ในรอบ 500 ปี ” และ “ มหาสังฆราชาผู้ฟื้นฟูเซน ” ดังที่บางท่านอาจเคยเห็นผลงานของท่านฮาคุอินในหนังสือคำสอนของท่านพุทธทาส ภาพวาด บทกวี และคำบรรยาย ล้วนแสดงออกถึงจิตวิญญาณแห่งเซนอันล้ำลึก ดังเช่น

...เหตุใด จึงปล่อยให้ชีวิตกลัดกลุ้ม
จงมองดูต้นหลิวริมฝั่งน้ำ
มันดำรงอยู่ที่นั่น เฝ้ามองสายน้ำหลั่งไหล...

...จั๊กจั่นกรีดร้องก้องตลอดวัน
แต่มีเพียงหิ่งห้อยผู้เงียบงัน
ซึ่งเผาตัวเองอยู่ด้วยความรัก...

...พยับเมฆและดวงจันทร์
ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
หุบห้วยและขุนเขา
ย่อมผิดแผกแตกต่าง
นี่ล้วนเป็นหนึ่งเดียว
หรือแบ่งแยกเป็นสอง
มหัศจรรย์ยิ่ง น่าทึ่งหนักหนา...

เซนบอกเราอยู่เสมอให้ขจัดโลกแห่งการแบ่งแยกออกไป และเปิดตาขึ้นรับรู้ต่อโลกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวอันสูงสุด ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ไปติดอยู่กับความหนึ่งเดียวจนสูญสิ้นอิสรภาพแห่งตนไป เซนมีบางสิ่งบางอย่างที่สงบล้ำและปราศจากการปรุงแต่งทั้งมวล ในขณะเดียวกับที่ห่อหุ้มปรีชาญาณอันลึกซึ้งไว้ภายใน และถ้าหากเราพยายามที่จะยึดมันไว้เพื่อนำมาดูว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่ มันก็จะสูญหายไปจนไร้ร่องรอย เหนือสิ่งอื่นใด เซนปฏิเสธการใช้สมองขบคิดใคร่ครวญ เพราะกระทำดังนั้น เท่ากับตกเป็นทาสของจิตใจแบบแบ่งแยก

....คนสามัญวางใจในตน คนฉลาดวางใจในจุดมุ่งหมาย....

คัมภีร์ที่ไร้อักษร
ช่างบริสุทธิ์และสดชื่น
ดอกไม้ที่ประดับด้วยหยาดน้ำค้าง
ช่างไพเราะเสนาะใส
บทเพลงของหมู่วิหค
เมฆขาวสงบ ธารน้ำส่องประกายสีคราม
ใครเลยที่อาจขีดเขียน
ด้วยถ้อยคำที่แท้ อันปราศจากตัวอักษร
ขุนเขาสูงตระหง่าน แมกไม้เขียวขจี
หุบเหวน้ำลึก ธารน้ำสะอาดใส
สายลมบางเบา ดวงจันทร์สงบล้ำ
อย่างสงบงัน ข้าพเจ้าอ่าน
ถ้อยคำที่แท้ ซึ่งไร้อักษร....

อ่านจบแล้ว บอกได้ว่า ซาบซึ้งพึงพอใจ แต่ถ้าจะให้ถ่ายทอดอธิบาย ก็จะไร้เสียงตอบจากฉัน เพราะนั่น...หมายถึงท่านต้องสัมผัสคุณค่าของเซนด้วยตัวท่านเอง....ดอกไม้..ไม่จำนรรจ์....

No comments: