Friday, May 18, 2007

วันที่ถอดหมวก



เช้าวันหนึ่ง ฉันตื่นขึ้นมาด้วยความหม่นมัวในใจ
เกลือกกลิ้งอยู่บนที่นอนด้วยความคิดวนเวียนอยู่ในหัว
ความรู้สึกเบื่อหน่ายซึมเซา หมองเศร้ากับชีวิต
และก็เหมือนทุกๆ เช้าของวันหยุด
ตื่นแล้วก็ต้องหยิบหนังสือที่วางบนหัวเตียง
อ่าน อ่าน และ อ่าน ขีดเส้นใต้ข้อความที่ประทับใจ
หลายข้อความผ่านตา
จิตใจที่หดหู่ ซึมเซา กลับรู้สึกเริ่ม...ผ่อนเบา...อ่อนคลาย
จนถึงบทสุดท้ายเป็นการสัมภาษณ์ผู้เขียน...
.. " เราพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่เรารัก..คนที่เรามีกรรมผูกพันกันมา...
" ทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้และทำให้คุณจมดิ่งลงไปในความมืด

มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างก็ได้"
" บ่อยครั้ง สิ่งที่ดูเหมือนเลวร้ายในชีวิตคุณ แท้จริงกลับเป็นบทเรียนที่ฟ้าดินมอบให้ "
" ทุกอย่างเป็นครูของเราได้หมด ทุกอย่างที่มากระทบเรานี่ ถ้าเราทำจิตให้ว่างเสีย

มันก็ผ่านไป เหมือนที่ท่านเซอเกียล รินโปเช เขียนว่า

จิตเดิมของเราเหมือนเวิ้งฟ้า เมฆผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ฟ้าก็ยังนิ่งใสเหมือนเดิม "
ข้อความผ่านตา จิตใจรู้สึกโล่ง โปร่งสบายขึ้นมาอย่างน่าประหลาด

ทบทวนถึงสิ่งก่อให้เกิดทุกข์ ก็เริ่มเห็นถึงความไม่เที่ยง ความเกิด – ดับ

ที่เกิดขึ้นตลอด เดี๋ยวสุข – เดี๋ยวทุกข์ ,เดี๋ยวหัวเราะ – เดี๋ยวร้องไห้

ทุกอย่างไม่มีสิ่งจีรัง
....
ฉันคิดถึงเธอ...
แม้รู้ว่าทุกสิ่งมีเปลี่ยนแปลง
ฉันขอเพียงเวลาสั้นๆ ของเรา เป็นเวลาที่เรามีความสุขด้วยกัน .. เท่านั้นพอ
....

หนังสือ... " วันที่ถอดหมวก "
โดย..เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ สามัญชน

ภาพลักษณ์บุรุษสวมหมวก คือส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของอาจารย์เสกสรรค์

มาตลอดร่วม 30 ปี โดยท่านถือว่าการสวมหมวกถือเป็นการยืนยันอิสรภาพแห่งตัวตนของท่านทีเดียว

แต่แล้ววันหนึ่ง มีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลง

การสวมหมวกของท่านผู้เขียนถูกสั่นคลอน ต้องทบทวนอัตตาแห่งตน

คนที่ยึดถือศักดิ์ศรียิ่งชีวิต กลับต้องมายอมให้กับอีกผู้หนึ่ง

ซึ่งมิใช่ผู้ยิ่งใหญ่มาจากไหน แต่กลับเป็นหมาจรจัดตัวหนึ่ง

เพียงเพื่อฝึกฝนความเมตตา ความนอบน้อมถ่อมตน ก่อให้เกิดความสมานฉันท์

ระหว่างคนกับหมา อีกทั้งเป็นการเยียวยาบาดแผลเก่าในใจของสิ่งมีชีวิต 2 สปีชี่ได้สำเร็จอีกด้วย

"วันที่ถอดหมวก" ได้ถูกรวบรวมเรื่องราวประสบการณ์ล้ำค่า

ของท่านผู้เขียนไว้มากมาย และที่สำคัญ บทสัมภาษณ์ท้ายเล่ม

เชื่อว่าสามารถปลุก " พุทธะ" ของท่านผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย

และสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ ทั้งที่มีข้อความกล่าวเกริ่นหน้าปกหลังว่า

" งานชุดนี้ แทบไม่เอ่ยถึงปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

เหมือนเล่มอื่นๆ" แต่พอได้อ่านดูแล้ว ก็พบและเชื่อมั่นว่า

อย่างไรเสีย ท่านผู้เขียนก็คงไม่สามารถผ่านเลยสิ่งที่ได้หลอมละลายอยู่ในทุกลมหายใจ

ของท่านไปได้ เพียงแต่อาจไม่หน่วงหนักเหมือนเล่มอื่นๆ เท่านั้น


Friday, December 15, 2006

ของขวัญวันวาน

นวนิยาย เรื่อง " ของขวัญวันวาน "
โดย ว. วินิจฉัยกุล

เป็นหนังสือนวนิยาย 600 กว่าหน้า แนวสุข เศร้า ซึ้ง โรแมนติก เล่าเรื่องย้อนยุคไปกว่า 30ปีก่อน เป็นเรื่องราวของนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไปเรียนที่อเมริกา ก่อเกิดปัญหารักสามเส้า โดย 2 หนุ่มที่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ดันมาหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน ผู้เขียนสามารถเขียนเรื่องราวให้ผู้ชายที่แข็งกระด้าง ขวางโลกแต่กลับเป็นคนดี เข้าไปเป็นชายในฝันของสาวๆ ที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้อย่างได้อารมณ์และชวนติดตามชนิดอ่านค้าง..เมื่อต้องวางแล้วหงุดหงิด

ฉันคั่นหน้าหนังสือไว้ เพื่อพักสายตาที่อ่อนล้า แล้วกลับมานั่งทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตฉัน
จริงด้วยสิ...ของขวัญ ที่ฉันได้รับมากมาย
บางชิ้น...เห็นแล้ว นึกถึงคนบางคนแถมด้วยรอยยิ้มระบายเต็มใบหน้า
บางชิ้น...แทบทำให้ฉันกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เมื่อนึกถึงเรื่องราวของเจ้าของ
และมีบางชิ้น...ก็เป็นของขวัญที่ฉันเตรียมไว้ให้คนอื่น แต่แล้วเกิดเสียดายขึ้นมา
ของขวัญชิ้นนั้นจึงยังมีฉันเป็นเจ้าของเหมือนเดิม
.
และเธอ...
คือของขวัญล้ำค่าในชีวิตฉัน
แต่บัดนี้...เหลือเพียงร่องรอยแห่งความทรงจำที่ไม่เคยลบเลือน

Monday, September 25, 2006

โลกของหนูแหวน



โลกของหนูแหวน
โดย ศราวก

" โลกของหนูแหวน " เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสืออ่านสำหรับเยาวชนที่ สกว.แนะนำ ตอนนี้ อายุอานามก็ร่วม 30 ปี อ่านแล้ว นึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก ยังจำได้ว่า ฉันเอง ยังใฝ่ฝันอยากเป็นโน่น เป็นนี่ เคยทำอะไรหลายอย่างที่ถ้าเป็นตอนนี้ คงไม่ทำแน่ เช่น เคยล้อเล่นกับเพื่อนที่เป็นเณรในวัด เล่นตีเขาจนหัวแตกเลย , เคยวิ่งไปกดกริ่งบ้านใครไม่รู้แล้ววิ่งหนี , เคยเอาผ้าเช็ดตัวมาโพกหัวทำเป็นผมยาวเดินประกวดนางงาม , ฉันเคยเชื่อว่า คนคลอดลูกออกมาทางสะดือ ฯลฯ และทุกอย่าง ก็ทำให้อมยิ้มได้เสมอ ยามฉันหวนคิดถึงเรื่องเหล่านั้นขึ้นมา

โลกของหนูแหวน ไม่เหมือนโลกของฉัน แต่ก็สร้างรอยยิ้มในความคิด ในจินตนาการของตัวละครที่ผู้เขียนเขียนให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน แน่ละ... อ่านไป ยิ้มไป ทึ่งไป บางครั้ง อาจมีน้ำตาคลอหน่วยบ้าง อย่างเช่นตอนผีตากผ้าอ้อม

ผีตากผ้าอ้อมบอกหนูแหวนว่า " ความรัก ทำให้สิ่งนั้นไม่เหมือนกับสิ่งอื่น และกลายเป็นของพิเศษมีอยู่อันเดียว เมื่อเธอรู้สึกว่า เธอเป็นพิเศษของใคร เธอก็ถูกเขารัก เมื่อเธอเห็นใครพิเศษ มีอยู่คนเดียวในโลก เธอก็รักเขา เธอไปพบดอกลับพลึงดอกหนึ่ง แล้วเธอรักมัน มันก็เป็นดอกพลับพลึงที่พิเศษกว่าดอกอื่น มันเป็นดอกหนึ่งและดอกเดียว ถ้าหากว่ามันเหี่ยวแห้งไป ดอกพลับพลึงทั้งโลกก็มาแทนไม่ได้ นี่แหละ ความรัก..." และผีก็ยังบอกอีกว่า " เธอไม่ต้องเสียใจว่าเธอรักฉันไม่ได้ เพราะฉันก็มีสิ่งที่ฉันรัก ความรักที่เราให้แก่ผู้อื่นนั้น ยิ่งใหญ่กว่าที่เรารับมา " เมื่อผีจากไป หนูแหวนก็พูดกับตัวเองว่า " ฉันคงลืมเธอไม่ลง แต่ฉันก็ไม่รู้ว่า ฉันรักเธอหรือเปล่า "

บางตอน .. ยังชวนให้คิดตาม เช่น
" ต้นไผ่บอกกับหนูแหวนว่า " วันหนึ่ง ทุกคนจะต้องกลายเป็นของไร้ค่า ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ระหว่างทีเรามีชีวิตอยู่ เราจะทำตัวของเราให้มีค่าอย่างไรต่างหาก........เวลาเธอดายหญ้าออก เธอทำให้ต้นหนึ่งตายได้ แต่ว่าไม่สามารถทำให้หญ้าทุกต้นตายได้หมด หญ้ายังสามารถงอกงามเติบโตไปในทางของมัน...."

...ต้อยติ่งพูดกับหนูแหวนว่า .." ถ้าเธอมีความรัก เธอก็จะมีเพื่อน แล้วเธอก็ไม่เหงา .....เพิ่มความรักเข้าสิ แล้วเธอจะได้อยู่ในโลกแห่งความรัก ในโลกของความรัก ฉันเติบโตมานี่ไง ไม่ช้า ฉันก็จะกระจายเป็นต้อยติ่งหลายๆ ต้นจนเต็มทุ่ง "

โลกของหนูแหวน เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากเล่มหนึ่งที่ฉันอ่านอย่างวางไม่ลงเลยทีเดียว บรรยากาศของท้องทุ่ง บรรยากาศของความรัก มันทำให้ฉันรู้สึกอิ่มในอารมณ์จริงๆ

Monday, July 03, 2006

ดอกไม้ไม่จำนรรจ์



“ดอกไม้ไม่จำนรรจ์ – A Flower Does Not Talk”
เซนไค ชิบายามะ เขียน
พจนา จันทรสันติ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
********************************************************
บทกวีขับนำ
ดอกไม้เบ่งบานขึ้นอย่างเงียบงัน
และจะหลุดร่วงไปโดยไร้สำเนียง
มาบัดนี้ ณ กาลนี้ และ ณ สถานที่นี้
ดอกไม้ทั้งหมด โลกทั้งหมด ล้วนเบิกบานขึ้น
นี่คือคำจำนรรจาแห่งดอกไม้
คือสัจจะแห่งการเบ่งบาน
แสงอันเรืองรองแห่งชีวิตนิรันดร์
ได้ฉายฉานลง ณ ที่นี้แล้ว
เซนไค ชิบายามะ

หากท่านขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นิยมชมชอบนิยายยุทธจักรกำลังภายในหรือนิยายซามูไรชนิดแฟนพันธุ์แท้อย่างลึกซึ้งแล้วละก็ ท่านจะต้องทราบถึงวิถีแห่งเซนที่สอดแทรกอยู่ในนิยายเหล่านั้น ดังที่คุณเสถียร จันทิมาธร เคยบอกเล่าไว้ว่า เซนแทรกอยู่ในนิยายเรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น” แฟนพันธุ์ทางลี้คิมฮวงอย่างฉัน ก็หูผึ่งด้วยความสงสัยใคร่รู้ เอ..ที่บอกว่า..เซนน่ะ มันแทรกอยู่ตรงไหนหนอ ฉันรู้จักดีก็แค่เซ็นชื่อกะเซ็นเช็ค
สงสัยได้เพียงไม่นาน และแล้ววันหนึ่ง หนังสือ “ดอกไม้ไม่จำนรรจ์” ก็มาสถิตอยู่ในมือฉัน ฉันเริ่มต้นอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อสนองความอยากรู้จบไป 1 รอบ ฉันเข้าใจเซนเพิ่มขึ้นแค่หางอึ่ง ซึ่งไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาของหนังสือเลย แต่ฉันกลับพบว่า..ฉันแอบซ่อนความพึงพอใจหนังสือเล่มนี้อย่างเงียบๆ การอ่านรอบที่ 2 ก็เริ่มขึ้น จนรอบที่ 3 ตามมา แต่ละรอบที่อ่าน ฉันสัมผัสถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้เพิ่มมากขึ้นๆ เขยิบเข้ามาสิ..ฉันจะเล่าให้ฟัง

เซนเริ่มเผยแพร่จากจีน แต่มารุ่งเรืองแผ่ขยายในญี่ปุ่น ผู้เขียนเป็นอาจารย์เซนคนสำคัญคนหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ให้มนุษย์สามารถเผชิญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยการเข้าถึงบุคลิกภาพภายในอันล้ำลึก เขาเชื่อมั่นว่า “ เซนคือความหวังของโลกในอนาคต ” และเขาเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่ว่า “ ที่ก้นบึ้งของความแตกต่างนั้น มีต้นกำเนิดของน้ำพุ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสุขของมนุษย์ชาติทั้งปวงดำรงอยู่ ”
หนังสือเล่มนี้ ได้บอกเล่าถึงความเป็น “ เซน ” ว่ามีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ 1) เน้นการถ่ายทอดนอกคัมภีร์ 2) ไม่ยึดติดกับตัวอักษร 3) จี้ตรงเข้าสู่จิต 4) เข้าถึงพุทธภาวะโดยการมองธรรมชาติแห่งตน ทั้ง 4 อย่างนี้ มีมรรควิธีแห่งเซนนำไปสู่สัจธรรมแห่งธรรมชาติที่แท้ การเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวด้วยวิธีธรรมชาติและวิถีทางประหลาดๆ ต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของอาจารย์ผู้ถ่ายทอด ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกฝนต้องยึดถือหลัก 3 ข้อ คือ 1) ต้องมีศรัทธามั่นและตั้งใจมั่นคงที่จะรับการฝึกฝน 2) จะต้องมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะยอมทนต่อวินัยอันเคร่งครัด 3) จะต้องมีมหาปริศนา – ความสงสัยทางวิญญาณ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาที่เป็นเครื่องนำไปสู่สัจจะ เซนแบ่งออกเป็นโซโตเซนและรินไซเซน ทั้งวิธีการและการฝึกหัดอาจจะแตกต่างกันออกไป วิธีการฝึกฝนจึงต้องฝึกเพื่อให้ทนรับความยากลำบาก และไม่หลงใหลไปกับสิ่งที่ง่ายๆ ที่ถือว่าเป็นทางลัด จนบางครั้งดูเหมือนจะก้าวร้าว โหดร้าย แต่ก็เป็นการปฏิวัติต่อระบบความคิดดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจเซน คือ สิ่งที่เรียกว่า “เซน” นั้น ไม่อาจถือว่าเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา เซนไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับพุทธศาสนานิกายเซนเท่านั้น หากแต่เป็นสัจจะอันสากล ซึ่งจะนำปรีชาญาณที่แท้และนำสันติสุขมาสู่ชีวิตของมหาชนในโลก
นอกจากนั้น หนังสือได้แสดงถึงบทเพลงของซาเซนและภาพวาดของเซน ซึ่งเป็นผลงานของท่านฮาคุอิน – อาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียง อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ คุรุจอมปราชญ์ในรอบ 500 ปี ” และ “ มหาสังฆราชาผู้ฟื้นฟูเซน ” ดังที่บางท่านอาจเคยเห็นผลงานของท่านฮาคุอินในหนังสือคำสอนของท่านพุทธทาส ภาพวาด บทกวี และคำบรรยาย ล้วนแสดงออกถึงจิตวิญญาณแห่งเซนอันล้ำลึก ดังเช่น

...เหตุใด จึงปล่อยให้ชีวิตกลัดกลุ้ม
จงมองดูต้นหลิวริมฝั่งน้ำ
มันดำรงอยู่ที่นั่น เฝ้ามองสายน้ำหลั่งไหล...

...จั๊กจั่นกรีดร้องก้องตลอดวัน
แต่มีเพียงหิ่งห้อยผู้เงียบงัน
ซึ่งเผาตัวเองอยู่ด้วยความรัก...

...พยับเมฆและดวงจันทร์
ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
หุบห้วยและขุนเขา
ย่อมผิดแผกแตกต่าง
นี่ล้วนเป็นหนึ่งเดียว
หรือแบ่งแยกเป็นสอง
มหัศจรรย์ยิ่ง น่าทึ่งหนักหนา...

เซนบอกเราอยู่เสมอให้ขจัดโลกแห่งการแบ่งแยกออกไป และเปิดตาขึ้นรับรู้ต่อโลกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวอันสูงสุด ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ไปติดอยู่กับความหนึ่งเดียวจนสูญสิ้นอิสรภาพแห่งตนไป เซนมีบางสิ่งบางอย่างที่สงบล้ำและปราศจากการปรุงแต่งทั้งมวล ในขณะเดียวกับที่ห่อหุ้มปรีชาญาณอันลึกซึ้งไว้ภายใน และถ้าหากเราพยายามที่จะยึดมันไว้เพื่อนำมาดูว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่ มันก็จะสูญหายไปจนไร้ร่องรอย เหนือสิ่งอื่นใด เซนปฏิเสธการใช้สมองขบคิดใคร่ครวญ เพราะกระทำดังนั้น เท่ากับตกเป็นทาสของจิตใจแบบแบ่งแยก

....คนสามัญวางใจในตน คนฉลาดวางใจในจุดมุ่งหมาย....

คัมภีร์ที่ไร้อักษร
ช่างบริสุทธิ์และสดชื่น
ดอกไม้ที่ประดับด้วยหยาดน้ำค้าง
ช่างไพเราะเสนาะใส
บทเพลงของหมู่วิหค
เมฆขาวสงบ ธารน้ำส่องประกายสีคราม
ใครเลยที่อาจขีดเขียน
ด้วยถ้อยคำที่แท้ อันปราศจากตัวอักษร
ขุนเขาสูงตระหง่าน แมกไม้เขียวขจี
หุบเหวน้ำลึก ธารน้ำสะอาดใส
สายลมบางเบา ดวงจันทร์สงบล้ำ
อย่างสงบงัน ข้าพเจ้าอ่าน
ถ้อยคำที่แท้ ซึ่งไร้อักษร....

อ่านจบแล้ว บอกได้ว่า ซาบซึ้งพึงพอใจ แต่ถ้าจะให้ถ่ายทอดอธิบาย ก็จะไร้เสียงตอบจากฉัน เพราะนั่น...หมายถึงท่านต้องสัมผัสคุณค่าของเซนด้วยตัวท่านเอง....ดอกไม้..ไม่จำนรรจ์....

วิหารที่ว่างเปล่า



วิหารที่ว่างเปล่า
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ สามัญชน


เป็นหนังสือที่ฉันได้อ่านเล่มแรกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ด้วยคุณสมบัติการเป็นคนเดือนตุลาฯ เพื่อประชาที่ทุกข์ยาก ทำให้ฉันวาดภาพว่า ทุกเล่ม หรือทุกบทความต้องอัดแน่นไปด้วยไอกรุ่นของเรื่องราวการเมืองที่น่าเบื่อหน่าย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความงดงามทางภาษา ความลึกซึ้งในมุมมองของความคิด ทำให้ฉันต้องกว้านซื้อหนังสือที่เป็นผลงานของเขาอีกนับสิบเล่มด้วยความชื่นชมในหัวใจ

“วิหารที่ว่างเปล่า “ เป็นบันทึกการเดินทางและการอ่านหนังสือของเสกสรรค์ ที่ได้เกิดขึ้นในราวปี 2541 – 2542 ขณะวัยใกล้ 50 ที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เขาขึ้นต้นด้วยคำอุทิศ แด่..”ใบไม้” ที่หายไป ก็เกิดคำถามในใจว่า หมายถึงใครกันแน่ หญิงสาวของเขา หรือ ปฏิวัติชน ? ก่อนเปิดฉากด้วยการบอกเล่าเรื่องราวแรก คือชีวิตกลางทะเลตรัง สอดแทรกเอ่ยอ้างถึงหนังสือ Into Thin Air ของ จอน คราเคาเออร์ – ยอดนักไต่เขาที่ถูกกล่าวขานถึงการไต่ยอดเขาเอฟเวอเรสต์ ซึ่งเสกสรรค์ได้รำพึงไว้ว่า

...ในองค์ประกอบของความเป็นคน มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ “ไร้เหตุผล” สิ้นดี .... แต่ละฝ่ายมาแสวงหา “ คุณค่า” ของชีวิตตามจินตนาการที่ต่างกัน และบนเส้นทางไปสู่ยอดเขาสูงที่สุดของโลก หลายครั้งที่พวกเขาต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดของตนเองไปพร้อมๆ กัน...ใช่หรือไม่ว่า นี่คือตลกร้ายของมนุษยชาติ...

ทุกขณะของชีวิต จะมีสายธารแห่งความคิดหลั่งไหลให้ผู้อ่านได้ซึมซับความละเมียดละไมทางอารมณ์อยู่เสมอ ... เฉกเช่น...
...ชีวิตเป็นเรื่องแปลก ในขณะที่มันต้องการความสอดคล้องลงตัวสารพัดกว่าจะผลิตความสุขขึ้นมาได้สักหนึ่งวูบ แต่ห้วงขณะแบบนั้นกลับไม่ค่อยเกิดขึ้นในความเป็นจริง บางที สิ่งดีๆ ที่เรารอคอยก็มักจะมาช้ากว่าห้วงยามอันเหมาะสม และกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เราคิดไม่ถึง....

...สิ่งต่างๆ ที่เราต้องการในชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้ว แทบไม่มีอันใดเลยที่สำคัญในตัวของมันเอง มันขึ้นอยู่กับว่า เราได้รับสิ่งเหล่านั้นเมื่อใดและในเงื่อนไขใด อาหารเลิศรสเป็นความล้นเกินสำหรับผู้ที่อิ่มแล้ว ขณะที่เทียนเล่มเดียวอาจจะกลายเป็นของล้ำค่าที่สุดสำหรับผู้คนที่ติดวนอยู่ในอุโมงค์มืดดำ...

...ใช่หรือไม่ว่าโลกของเราแต่ละคนก็กว้างแค่จำนวนคนที่เรารู้จักและคบหาเป็นมิตรสหาย เมื่อมีบางส่วนจากพรากไปอยู่ภพอื่น หรือมีบางคนทอดทิ้งเราไป...โลกใบนี้ก็หดแคบลง..

นอกจากเรื่องราวชีวิตกลางทะเล เขายังเล่าถึงประสบการณ์เดินป่า ทั้งที่ผ่านประสบการณ์อยู่ในป่ามาหลายปี ก็ยัง ”หลงป่า” จนได้ และไม่ลืมที่จะสอดแทรกหนังสือประทับใจที่ชื่อ COURAGE : The Joy of Living Dangerously ของ Osho ซึ่งเสกสรรค์สรุป ไว้ว่า

...การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องการความกล้าหาญ ที่สำคัญ คือ กล้าที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนและสภาวะที่อยู่เหนือความคาดหมายในแต่ละห้วงยาม…

ประสบการณ์อีกมากมาย เช่น การใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออก ฯลฯ หนังสือที่ประทับใจหยิบยกมาให้เรียนรู้อีกหลายเล่ม ล้วนถ่ายทอดองค์ความรู้แนวคิดทางอารยธรรม , มานุษยวิทยา , รัฐศาสตร์ , สังคมศาสตร์ , ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวใน “วิหารที่ว่างเปล่า”

...หากชีวิตคือการเดินทางไปสู่ชั่วโมงที่เราไม่รู้จัก ในแต่ละห้วงยามย่อมต้องมีความหมายเฉพาะของมัน สิ่งใดที่มีคุณค่าหรือไร้ค่าย่อมขึ้นอยู่กับว่าปรากฏตัวขึ้นเมื่อใด...

...ผมพบว่า..วิหารในใจ..ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สถิตของอุดมคติทางการเมืองและสังคม พลันกลับกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเหงาเงียบ และเมื่อในใจมีโบสถ์โล่งร้างหลังหนึ่งตั้งอยู่ มิช้ามินานมันย่อมรกรุงรัง กลายเป็นที่อยู่อาศัยของนกหนูงูแมง....ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป คำถามที่เกิดขึ้นกับผมยิ่งไม่ได้มีเพียงจะอัญเชิญสิ่งใดมาประดิษฐานแทนที่สิ่งเหล่านั้น.. หากแต่ยังไต่สวนลึกไกลไปถึงขั้น .. จำเป็นหรือไม่ที่ผมจะต้องค้นหาความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต เพราะบางทีชีวิตอาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้...ดูแล้วเหมือนผมกำลังบูชา ความว่างเปล่า” ของชีวิต ... แท้จริง คือความว่างเปล่าอันลึกล้ำซึ่งไม่อาจมีรูปเคารพใดมาใช้แทน....อย่างน้อยผมยังเชื่อว่า”สิ่งศักดิ์สิทธิ์”มีอยู่ ...” สิ่งศักดิ์สิทธิ์”นี้ หมายถึง การให้คุณค่าอะไรบางอย่างกับชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนตอบแทนในเชิงวัตถุ..

… สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ทุกหนแห่ง ขอเพียงในใจเรามีโบสถ์วิหาร ก็สามารถอัญเชิญต้นไม้ ก้อนเมฆ หรือแม้แต่แววตาของมารดามาประดิษฐาน... สิ่งเหล่านี้ คือประติมากรรมของเอกภพที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ขององค์รวม เป็นสิ่งที่เราผ่านพบอยู่เกือบทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่มักมองข้าม หรือไม่เคยคิดจะอ่านหาความหมาย ...ใช่หรือไม่ว่า ขณะสถานที่อันพึงเคารพของทุกศาสนาเต็มล้นไปด้วยเครื่องบูชาสักการะและถ้อยคำอธิษฐาน... วิหารในใจเรากลับว่างเปล่ามาเนิ่นนาน? ...ใช่..ผมยอมรับว่า วิหารในใจยังคงว่างเปล่า แต่ก็เชื่อว่า ผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นคนเดียว...

วิหารในใจของคุณล่ะ มีสิ่งใดไว้เคารพบูชา

Sunday, May 28, 2006

ลิตเติ้ลทรี



ลิตเติ้ลทรี
วรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี
ฟอร์เลสต์ คาร์เตอร์ เขียน
กรรณิการ์ พรมเสาร์ แปล
สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง

*****************************************
เป็นวรรณกรรมเยาวชนซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กน้อยชาวอินเดียนแดงเผ่าเชโรกีที่กำพร้าพ่อแม่ อาศัยอยู่กับปู่และย่าบนภูเขา ชีวิตที่ผูกพันกันสะท้อนการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายของคนภูเขา มีการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เอื้อเฟื้อต่อสัตว์ป่า พึ่งพิงกันและมีสายสัมพันธ์อันงดงามที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของธรรมชาติ ในสภาวการณ์ที่อินเดียนยังคงเป็นชนชั้นต่ำที่ถูกเยาะหยัน ถูกดูแคลนว่าเป็นคนโง่งมในสายตาของคนขาว โดยผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ศึกษาเบื้องหลังความคิดของการดำรงชีวิต มักเทิดทูนวัฒนธรรมตนเอง และสร้างเป็นกรอบให้ผู้อื่นทำตามเพื่อความเป็นศิวิไลซ์

เนื้อความที่ติดใจ ก็มีเช่นนี้...

• หนังสือที่ดี ย่อมปลุกเร้าให้มนุษย์ตื่นขึ้น การอ่านหนังสือจึงไม่ใช่แค่การอ่านตัวหนังสือเท่านั้น แต่มันคือการอ่านชีวิต อ่านสังคม อ่านโลก

• มนุษย์ในเวลานี้ ควรลดความหยิ่งลำพองของตนลงเสีย และกลับมาทบทวน “ตัวตน” เสียใหม่ ว่า เราไม่ใช่เราเท่านั้น แต่เราคือ นก แม่น้ำ ป่าไม้ ทั้งหมดนี้เป็นตัวเรา แม้จะไม่ได้อยู่ในตัวเรา เมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมไม่ทำลายสิ่งอื่น เช่นเดียวกับเราไม่ทำร้ายตัวเราเอง

• ความกล้าหาญ คือ หัวใจของลิตเติ้ลทรี มีความเมตตาเป็นพลัง ลิตเติ้ลทรี จะไม่เดียวดาย

• จงเอาเท่าที่จำเป็น เมื่อเจ้าล่ากวาง จงอย่าเลือกตัวที่ดีที่สุด ให้เลือกตัวที่เล็กและเชื่องช้า เพื่อให้กวาง (ที่แข็งแรง) เหล่านั้น จะได้เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีเนื้อให้เรากินสม่ำเสมอ

• ไก่งวงเฒ่าพวกนี้ ก็เหมือนบางคน เพราะเขารู้ไปหมดทุกอย่าง จึงไม่มีวันก้มลงมองสิ่งที่อยู่รอบตัว เอาแต่เชิดหน้าสูงเกินกว่าที่จะเรียนรู้สิ่งอื่น

• รู้ว่าความตายในชีวิตอยู่ที่นี่แล้ว พร้อมรุ่งอรุณแห่งวัน รู้ว่าไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้ โดยไร้สิ่งอื่น

• ปัญหาใหญ่ของคนส่วนมาก เป็นเพราะไม่ได้ฝึกที่จะรักและเข้าใจกันฉันคนในครอบครัว

• เมื่อเราพบอะไรดีๆ สิ่งแรกที่น่าจะทำ ก็คือ แบ่งปันสิ่งดีนั้นกับใครก็ตามที่เราพบ เพื่อสิ่งดี จะได้แพร่ขยายออกไปไม่รู้สิ้นสุด

• คนทุกคน มีจิตอยู่สองดวง ดวงหนึ่งคือ จิตใจที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาสิ่งจำเป็น เพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้ เราต้องใช้จิตนี้ เพื่อไตร่ตรองหาวิธีให้ได้มาเพื่อร่างกายของเราให้ดำเนินชีวิตไปได้ จิตอีกดวงหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว คือ จิตวิญญาณ ถ้าเราใช้จิตใจไปในทาง โลภโมโทสัน หรือเลวทราม เช่น ถ้าเราชอบทำร้ายผู้อื่นเสมอ และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุจากผู้อื่นเพื่อตนเอง จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือขนาดเท่าลูกฮิคกอรี่นัท และอาจหายไปได้ ถ้าหากเราปล่อยให้จิตใจครอบงำร่างกายทั้งหมด เราจะสูญเสียจิตวิญญาณไปโดยสิ้นเชิง

• ทุกอย่างที่เราสูญเสียไป หากเป็นสิ่งที่เรารัก เราก็ย่อมรู้สึก เหมือนขาดหาย มีทางเดียวที่จะทำให้ไม่รู้สึกอย่างนี้ คือ “ ต้องไม่รักอะไรเลย ซึ่งนั้นยิ่งแย่ไปกว่านี้ เพราะเราจะรู่สึกว่างเปล่าตลอดเวลา”

• เมื่อเราเติบโตขึ้น และระลึกถึงผู้ที่เรารัก เราจะจดจำแต่สิ่งดีๆ ไม่จำสิ่งเลว ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า ความเลวนั้นไม่มีค่าอะไรเลย

• ถ้าได้ยินใครใช้ถ้อยคำว่าร้ายใคร อย่าไปตัดสินจากถ้อยคำพวกนั้น เพราะมันไม่มีความหมายอะไร ให้ตัดสินจากน้ำเสียง จะให้รู้ว่าเป็นคนที่ต่ำช้าและโกหกหลอกลวงหรือเปล่า

• เราควรเข้าใจปัญหาของเขา แต่คนส่วนใหญ่ ไม่อยากจะเข้าใจ เพราะมันยุ่งยาก ซับซ้อนเกินไป เลยใช้ถ้อยคำมากลบเกลื่อนความขี้เกียจ

• ปู่และย่า ผู้เปรียบเป็นพ่อและแม่คนที่ 2 ของเขา ได้สอนวิธีการดำเนินชีวิตและปลูกฝังแนวคิดของชนเผ่าเชโรกี เขาได้เรียนรู้วิถีธรรมชาติอันเรียบง่ายด้วยความรักอันบริสุทธิ์ อ่อนโยน และใสสะอาด และเขาก็ได้สัมผัสชีวิตรักที่ยิ่งใหญ่ เรียนรู้ความงามและความมีชีวิตของธรรมชาติที่มอบให้เด็กกำพร้าอย่างเขา เขาเรียนรู้การจากพราก การอยู่รอด เรียนรู้ความเข้มแข็งของหัวใจ ในขณะเดียวกัน เราเรียนรู้ความรักอันอ่อนโยนในครอบครัว ถึงแม้จะห่างไกลกัน แต่ต่างก็สัญญาที่จะดู “ ดาวสุนัข ” ในค่ำคืนและส่งใจถึงกัน รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

• เมื่อไรที่หัวใจของเขาอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เขาจะได้เรียนรู้ว่า เขาควรจะให้ใคร และสิ่งที่ควรให้ คือ ให้การเรียนรู้ที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

• เมื่อเราจัดระเบียบสรรพสิ่งต่างๆ แล้ว เราก็จะแยกแยะสิ่งที่เราต้องทำ และสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เป็นห้วงเวลาแห่งการทบทวนความทรงจำ ความเสียใจ และความหวังว่า เราจะได้ทำในสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำ และพูดสิ่งที่เราไม่ได้พูด

***********************************

วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข



วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข
โดย เดล คาร์เนกี้
*********************
• ธอมมัส ดาไลด์ กล่าวว่า : ภารกิจของเรา คือ ไม่มองสิ่งที่เห็นสลัวๆ ในระยะไกล แต่ปฏิบัติสิ่งที่เห็นกระจ่างที่อยู่ใกล้ๆ
• จงศึกษาวิธีที่จะมีชีวิตอยู่ “ ภายในห้องที่มีแต่วันนี้” ของ เซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งจะเป็นทางให้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ แห่งชีวิตไปอย่างปลอดภัย จงสำรวจตัวเอง จงถือเสียว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ - อดีต เป็นสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ปิดฉากไปแล้ว และสำหรับพรุ่งนี้ – อนาคต ที่ยังไม่มาถึง และยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แล้วท่านจะปลอดภัยสำหรับวันนี้ วิธีเตรียมตนไว้สำหรับพรุ่งนี้ คือ การปฏิบัติงานวันนี้ ด้วยความขยันขันแข็ง และด้วยสติปัญญาทั้งหมดของท่าน เพื่ให้งานของท่านบรรลุไปด้วยผลอันงามที่สุด
• เซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ : ปิดประตูเหล็กกั้นอดีต และอนาคตไว้เสีย จงดำรงชีวิตอยู่ในห้องที่มีแต่วันนี้
• เปรียบชีวิตคนเหมือนแก้วใส่ทราย ผ่านคอขวด เราไม่สามารถทำให้ทรายผ่านคอคอดทั้งหมดได้โดยไม่ทำให้แตก เมื่อเราลงมือทำงานในตอนเช้า ภาระตั้งร้อยอย่างพันอย่าง ต้องปฏิบัติให้ลุล่วงไป จึงต้องปฏิบัติงานไปที่ละอย่าง ไม่ใช่โหมพร้อมกันหลายอย่างแบบเดียวกับเม็ดทรายผ่านคอแก้วทีละน้อย
• โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนซัน กล่าวว่า “ ผู้ที่มีชีวิตเต็มไปด้วยความสุข จะเป็นผู้ที่รู้จักอดทนต่อภาระรับผิดชอบของตนเอง แม้จะหนักสักปานใด ตลอดทั้งวัน จะต้องสามารถปฏิบัติงานของตนตลอดทั้งวัน จะต้องมีชีวิตด้วยความร่าเริง พากเพียร ยิ้มแย้ม แจ่มใส จนกว่าพระอาทิตย์จะตกดิน ”
• คนฉลาด ย่อมคิดว่า วันหนึ่งๆ เป็นชีวิตใหม่ของเขา
• กวีเอกโรมัน ชื่อ “ ฮอริช” กล่าวว่า “ พรุ่งนี้ ช่างมัน , ชีวิตของฉันอยู่ถึงวันนี้ ก็พอแล้ว ”
• เรามิได้สันโดษในความเป็นอยู่ของตนเอง เพราะเราต่างฝันถึงสวนกุหลาบเนรมิตเหนือขอบฟ้าแทนที่จะมีความชื่นชมต่อกุหลาบ ซึ่งบานสะพรั่งอยู่นอกหน้าต่างห้องของเขาในวันนี้ จึงเป็นการโง่อย่างน่าเวทนาจริงๆ
• พระเยซู : อย่าได้คิดอย่างใดถึงพรุ่งนี้ เพราะพรุ่งนี้จะดูแลตัวของมันเอง จงหามาให้พอสำหรับวันนี้ จะไม่มีสิ่งร้ายมากล้ำกลาย
• วิลลิส เอช แคริเออร์ : เมื่อพบกับความล้มเหลว ให้ปฏิบัติ 3 ขั้น คือ
1. วิเคราะห์สภาพการณ์อย่างไม่หวั่นและตรงไปตรงมา และคำนวณว่า ความล้มเหลวอันนี้ จะ เป็นผลเสียหายร้ายแรงที่สุดสักเท่าใด
2. ตกลงที่จะรับความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดด้วยความยินดี ถ้าไม่มีทางอื่น
3. สละเวลาสติกำลังในการพยามแก้ไขสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด (พยายามอย่างสุขุม เยือกเย็น)
• ลิน ยู ถัง จากหนังสือ “ ความสำคัญแห่งการดำรงชีวิต “ กล่าวว่า ความสงบอันแท้จริงแห่งจิตใจมาจากยินดีต้อนรับ สิ่งร้ายแรงที่เกิดขึ้นแก่เรา
• เผชิญหน้า , เลิกเป็นทุกข์ , หาทางแก้ไข แทนที่จะอยู่เฉยๆ ... การทำใจให้ผ่องใส จะช่วยให้ร่างกายต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ได้
• ฮ๊อกส์ กล่าวว่า ถ้าบุคคลได้เผชิญปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ บุคคลนั้นพึงสละเวลาค้นหาข้อเท็จจริงด้วยใจ เป็นธรรมและเที่ยงตรง ทุกข์จะแห้งหายไปท่ามกลางแสงสว่างแห่งข้อเท็จจริงที่ได้ค้นพบ
• เมื่อมีปัญหาที่ทำให้เกิดวิตกทุกข์ร้อน อย่าปล่อยให้อารมณ์ฉุนเฉียวเกิดขึ้น ต้องแก้ปัญหาด้วยใจที่เป็นธรรมและเที่ยงตรง
• โทมัส เอดิสัน กล่าวว่า “ ไม่มีหนทางใดเลยที่จะมาบังคับให้มนุษย์เลิกคิดเสียได้ ”
• จอห์น คาวเปอร์ พาวส์ กล่าวไว้ใน “ศิลปะแห่งการลืมสิ่งร้าย” ว่า สิ่งที่จะระงับประสาทของมนุษย์ให้สงบ เมื่อตกอยู่ในห้วงทุกข์ ก็คือ เพลิดเพลินในภาระของตนจนไม่มีเวลาว่าง
• ถ้าปรารถนาให้จิตใจได้รับสันติสุข เขาจะต้องไม่เอาธุระกับความผิดเล็กๆ น้อย เหตุไฉน เราจะต้องเสียเวลาด้วยการจมอยู่ในห้วงแห่งความโศกเศร้า แต่จงบำเพ็ญชีวิตของเราให้สมค่า ทั้งการกระทำและความรู้สึก เพื่อใช้ความคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อใช้ความรักด้วยน้ำใสฝใจจริง และเพื่อความขยัน หมั่นเพียรในภารกิจ “ ชีวิตเป็นสิ่งสั้นเกินไปกว่าที่จะเอาธุระกับสิ่งเล็กน้อย ”
• จงต้อนรับกับสิ่งที่หนีไม่พ้น
• พระเจ้ามอบแก่ข้าพเจ้าซึ่งสันติสุขภายในด้วยการให้รับไว้ในสิ่งที่ข้าพเจ้าเปลี่ยนไม่ได้ ข้าพเจ้ากล้าเปลี่ยน แต่สิ่งที่สามารถจะเปลี่ยนด้วยการใช้ดุลยพินิจว่า สิ่งไหนควรหรือไม่ควร
• จง “หยุดเสียหาย” สำหรับทุกข์ จงคำนวณราคาของความสุขและความสงบแห่งชีวิตของเราเป็นเกณฑ์
• ความสุขในการดำรงชีวิต
1. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะมีความสุข
2. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะปรับปรุงตัวเองให้เหมาะสมในสายตาของคนทั่วๆ ไป
3. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะเอาใจใส่ต่อร่างกายของข้าพเจ้า
4. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะพยายามกระทำจิตใจ ให้เจริญงามยิ่งขึ้น ไม่ขี้เกียจ , สำรวมตน
5. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ให้ผู้ที่ข้าพเจ้าช่วยรู้ตัว
6. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะทำใจให้ปลอดโปร่ง แต่งกายสะอาดเรียบร้อย พูดด้วยสำเนียงอ่อนโยน สุภาพ ยกย่องชมเชยผู้อื่น จะละเว้นการวิจารณ์หรือพยายามเอาผิดกับสิ่งใดๆ และจะไม่พยายามสั่งสอนและตักเตือนใครๆ
7. เพื่อวันนี้ จะไม่ทุกข์เรื่องงาน / ปัญหาใดๆ ทั้งวันหน้า – วันหลัง จะเสร็จงานใน 12 ชั่วโมง
8. ข้าพเจ้าจะมีรายการว่า ชั่วโมงหนึ่ง จะทำอะไรบ้าง
9. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะหาเวลาเงียบๆ คนเดียวสัก 1/2 ชั่วโมง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ
10. เพื่อวันนี้ ข้าพเจ้าจะไม่กลัวสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ไม่กลัวว่าจะไม่มีความสุข ไม่กลัวว่าจะไม่ได้รับความรัก ไม่กลัวว่าคนที่ข้าพเจ้ารัก จะรักข้าพเจ้าหรือไม่

Wednesday, February 22, 2006

จับจิตด้วยใจ



ชื่อหนังสือ จับจิตด้วยใจ
ชื่อผู้เขียน นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์
สำนักพิมพ์ ศยาม

รวบรวมมาจากคอลัมน์ "จับจิตด้วยใจ" ของหน้าศาสนา - จิตใจ นสพ. มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ เนื้อหาจะกระตุ้นให้ความสำคัญเรื่อง "ภายใน" ท่ามกลางสังคมที่ยึดเรื่องของ "ภายนอก" เป็นสรณะ ผู้เขียนถ่ายทอดให้เริ่มก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องหมั่นฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ "สุขภาพชีวิต"ที่ดี ประกอบด้วย
HEALTH ได้แก่ H = Happyness (ความสุข)
E = Enlightenment (การตื่นรู้)
A = Autonomy (อิสรภาพและการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว)
L = Learning (การเรียนรู้)
T = Transformation) (การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า)
H = Healing (การเกิดการเยียวยาภายใน)

เรื่องที่นายแพทย์วิธานได้พูดถึง มีดังนี้

1. เรื่อง "ความโกรธ" มีผลการวิจัยยืนยันว่า การโกรธแต่ละคร้ง จะทำให้ภูมิคุ้มกัน (IgA)ลดลง ดังนั้น จึงควรเลือกที่จะเปลี่ยนวงจรชีวิตตัวเองให้เป็นวงจรบวก (มีอยู่ 84,000 วิธี) โดยการฝึกเรื่อยๆ ถ้าอยากให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตนเองก่อน

2. การฟังอย่างลึกซึ้ง ตามทฤษฏี Dialogue ของ เดวิด โบห์ม เป็นการรับรู้ว่าฟัง โดยไม่ตัดสินว่าผู้อื่นถูกหรือผิด ยังทำให้เกิดความสงบนิ่ง หลุดพ้นจากการขัดแย้ง การตัดสิน และการยึดถือความคิดของตัวเอง

3. สภาวะแห่งความเป็นปกติ ความปกติที่มนุษย์ควรจะมี เป็นสภาวะที่สมดุล เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หลุดไปจากขอบเขตของความชอบ / ไม่ชอบ

4. การผ่าตัดอารมณ์ ด้วยเทคนิค "Cut - thru" โดยมีวิธีคล้ายกับทางพุทธศาสนา คือให้ "รับรู้" หรือ มีสติรู้ตัวก่อน เป็นวิธีที่เหมือนกับวิธี Transformation ของท่าน ติช นัท ฮันห์

5. ควรรู้เท่าท้นกระบวนการ มากกว่าที่จะมัวติดอยู่กับ "เปลือก"ภายนอกที่เป็นเสมือนหนึ่ง "กับดักทางจิตวิญญาณ"

6. เดวิด โบห์ม ได้เสนอทฤษฏีตามแนวคิดควอนตัมฟิสิกส์ว่า ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ทำงานกันแบบโฮโลแกรม ซึ่งจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก อันแสดงถึงภาพความจริงที่ปรากฏ ย่อมหมายถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคนด้วย หากภาพเลวร้ายของสังคมที่ปรากฏ ย่อมหมายถึง ความเลวร้ายที่มีในใจตัวเราด้วย เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้ากันได้กับหลักของ "อิทัปปัจจยตา"ของพระพุทธศาสนา ที่บอกถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในจักรวาลอย่างแบ่งแยกไม่ได้ และทุกสรรพสิ่ง เป็นไปตามเหตุและปัจจัยอีกด้วย

7. พลังของการสวดมนต์ สามารถนำมาวิจัยทางการแพทย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์แบบเก่า ในควอนตัมฟิสิกส์ กล่าวว่า "ความคิด" เป็นกลุ่มพลังงานชนิดหนึ่งซึ่งมีผลต่อกลุ่มพลังงานกลุ่มอื่น และมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพลังงานทั้งหมดในจักรวาลอย่างมีระบบและมีผลต่อกันและกันอย่างแยกไม่ออก การสวดมนต์จึงเป็นเรื่องของพลังงานควอนตัมที่แน่นอนและส่งผลไปยัง "เป้าหมาย" ที่ต้องการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ คลื่นพลังงานของการสวดมนต์ เป็นคลื่นพลังงานที่มีผลต่อการทำงานระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ได้โดยที่ไม่เกี่ยวกับระยะทาง

8. การับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพพื่อให้มนุษย์ได้พัฒนาขึ้น ต้องมีมิติด้านใน เป็นการรับรู้แบบลึก ซึ่งต้องฝึกฝนและปฏิบัติใน 2 เรื่องสม่ำเสมอ คือ
...8.1 การฝึกฝนตัวเองให้เข้าสู่ "สภาวะแห่งความเป็นปกติ" ร่างกายจะมีการปรับคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและสมดุล
...8.2 มีการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง พ้นจากการตัดสินว่าถูก-ผิด มองอย่างเป็นกลางๆ พ้นจากกรอบของความเป็นภาษา

9. ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือ "การไม่ฟังกัน" โลกนี้ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ทุกคนเก่งกันคนละอย่าง จึงต้องให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การสื่อสาร ต้องมีมิติที่ลึกลงไป ทำนอง "ภาษาใจ" ด้วย สามารถฝึกได้โดยใช้ "การฟังอย่างลึกซึ้ง" หรือ Bohm's Dialogue

10. ชีวิตที่ไม่ใช่เรขาคณิต คือ ไม่ต้องคอยพิสูจน์ให้ใครเห็นว่า เราดี เราเก่ง เราแน่ มิฉะนั้น จะตกเป็นทาสทางความคิดของผู้อื่น ให้ลองทำตัวไม่ตกไปใน "กับดักทางความคิด" ดำเนินชีวิตตามที่คิดว่าควรจะเป็น

Wednesday, January 25, 2006

ผ่านพบไม่ผูกพัน



ผ่านพบไม่ผูกพัน
Unattached Encounters
โดย..เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์สามัญชน

...อันใดเล่าที่ควรเข้ามาแทนที่ความกลัวเพื่อเราจะได้มีพลังขับเคลื่อนความคิดไปในทางบวกมากขึ้น
ทั้งสร้างสรรค์และสงบสุขมากขึ้น คำตอบที่ตรงที่สุดคือความกล้า
อย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญทางจิตวิญญาณนั้นต่างจากความกล้าในความหมายสามัญ คือ
มิได้มีไว้สู้รบกับผู้ใด หากหมายถึง การเปิดกว้าง ต้อนรับทุกเหตุการณ์ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างไม่สะทกสะท้าน
จากนั้น ค้นหาจุดลงตัวในการสัมผัสสัมพันธ์กับมัน
สิ่งตรงข้ามกับความกลัวอีกอย่างหนึ่งคือ ความรัก
ทั้งนี้เพราะความรักในระดับจิตวิญญาณที่ปราศจากขอบเขตและเงื่อนไขจะบังเกิดได้
ก็ต่อเมื่อเราเอาชนะความต้องการและความคาดหวังแบบคับแคบเสียก่อน
ความรักในความหมายนี้ นับเป็นพลังงานที่ทรงอานุภาพอย่างยิ่ง
ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์และการมองโลกเชิงบวกได้ต่อเนื่อง....

...ผ่านพบโดยไม่ผูกพัน บางที อาจลึกซึ้งยั่งยืนกว่าร้อยหัวใจเข้ากับทุกอย่าง
ด้วยโซ่ตรวนที่มักตั้งชื่อผิดๆ ว่า " ความรัก "....

..บางที เราอาจเดินทางเพื่อหาที่ทิ้งขยะในหัวใจ...

...บางท่าน แต่งผิวนอกไว้แกร่งกร้าน เนื่องเพราะเนื้อในแน่นคับเกินกว่าจะมีพื้นที่ให้ผู้อื่น
บางคน เย็นชาแข็งกระด้าง เพราะรู้ดีว่า หัวใจของตนอ่อนนุ่มเกินกว่าจะเปิดเผย...

...ยามหมอกฝนโปรยปรายใส่หินผา ท่านอาจร่วมร้องไห้กับผาหิน...

...บางครั้ง เราเต็มใจเป็นสะพานให้ใครบางคนก้าวข้าม
แต่ห้วงยามแห่งการเสียสละกับห้วงยามแห่งการพลัดพราก ก็มักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน
ทั้งนี้ เพราะสะพานย่อมมิใช่ที่อยู่ถาวรของผู้ใด...

...คนเราเกิดมาในโลก แท้จริงแล้วจะมีเพื่อนร่วมทางสักกี่คน
ส่วนใหญ่ที่สุดก็เป็นเพียงคนข้างทางของกันและกัน...

...คนข้างทางในชีวิตเราไม่ได้ปรากฏตัวอย่างไร้เหตุผลเสมอไป
ผู้แปลกหน้าเหล่านี้ อาจจะมาพร้อมกับข่าวสารบางอย่าง
ที่ช่วยเติมเต็มความรับรู้หรือกระตุ้นสำนึกดีๆ ที่หายไปให้กลับคืน
หากเรารู้จักอ่านความหมายของการพบกัน...

...เนื่องเพราะในยามที่อ่อนแอและอยากถูกรัก
ผู้คนอาจสับสนได้ระหว่างความรักที่คิดมอบให้ผู้อื่นกับความรักทีมีต่อตัวเอง...

...ถ้าเราอยากรู้จักผู้ใดอย่างแท้จริงสักคน
จงดูเส้นทางที่เขาเลือกและวิถีปฏิบัติของเขาขณะอยู่บนเส้นทาง
แต่ไม่ควรใส่ใจดูว่า เขาไปถึงปลายทางหรือไม่...